มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

  วิสัยทัศน์

มุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากร ระบบการศึกษาและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศทางคุณภาพการศึกษาสร้างคลังแห่งขุมปัญญาที่จะพัฒนาบุคคลให้เป็นศึกษิต คือ บัณฑิตที่เป็นปัญญาชนมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตน สังคม ประเทศชาติและมนุษยชาติในที่สุด ด้วยอุดมการณ์แห่งความร่วมมือยิ่งกว่าการแข่งขัน


พันธกิจ

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น มีพันธกิจหลักคือ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ การวิจัยการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ และมีเอกลักษณ์เฉพาะในการมุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาภาวะผู้นำและปลูกจิตสำนึกในเรื่องการใฝ่การศึกษาทั้งตามรูปแบบการศึกษาในสถาบันและการศึกษาด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและประการสำคัญคือ การอบรมบ่มนิสัยนิสิตแต่ละคนให้เจริญเติบโตเป็นผู้มีวินัยซื่อสัตย์ ยึดมั่นในรากฐานการดำเนินชีวิตที่ดีงาม รู้จักตนเอง และรู้จักผู้อื่นดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและเสียสละรับผิดชอบต่อสังคม มีพลานามัยสมบูรณ์เคารพกฎหมายและเป็นศึกษิตที่มีความสามารถ พร้อมที่จะประกอบกรรมดีที่จะช่วยสร้างสังคมและประเทศชาติให้มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงสู่อุดมคติที่พึงประสงค์ได้

  วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

1) ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถสูง รวมทั้งเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีคุณธรรมจริยธรรม และมีทักษะการสื่อสารที่มีคุณภาพ เพื่อสนองต่อความต้องการขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านธุรกิจ และด้านอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2) พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้นโดยการส่งเสริมในการผลิต ค้นคว้าวิจัยงานทางวิชาการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและการพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม
3) เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดการพัฒนาทางวิชาการ สังคม แนวคิด และค่านิยมที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศ
4) มุ่งสร้างสรรค์การให้บริการวิชาการแก่สังคม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต
5) ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับการเผยแพร่ รักษา ทำนุบำรุง และสร้างความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของชาติไทยให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
6) สร้างโอกาสแก่ประชาชนที่ห่างไกลและด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยการกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไปในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น และสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนให้มีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

  ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเดิมชื่อ มหาวิทยาลัยณิวัฒนา ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ ๒/๒๕๔๐ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นสถาบันการศึกษาระดับ อุดมศึกษาเอกชนที่ได้สถาปนาขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชโองการโปรดเกล้าสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในเขตภูมิภาคของภาคกลางและเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาคของประเทศในการส่งเสริมการพัฒนาทาง ด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ โดยมีภารกิจหลัก ๔ ประการคือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางด้านทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ และประการสำคัญคือเพื่อตอบสนองความต้องการของชาติในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่พรั่งพร้อมด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการ มีทักษะขั้นสูงในการประกอบอาชีพ และกอปรด้วยคุณธรรม จริยธรรม

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นได้เปิดดำเนินการสอนในระดับปริญญาตรี 13 คณะวิชาได้แก่
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์
- คณะเทคนิคการแพทย์
- คณะพยาบาลศาสตร์ กาญจนบุรี
- คณะพยาบาลศาสตร์ วัชรพล
- คณะพยาบาลศาสตร์ บุรีรัมย์
- คณะสาธารณสุขศาสตร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจและรัฐประศาสนศาสตร์
- คณะนิติศาสตร์
- วิทยาลัยการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย

ปริญญาโท
๑. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
๒. หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา
๓. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานสาธารณสุข
๔. หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต
๕. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
๖. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารงานวิศวกรรม

ปริญญาเอก
๑. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
๒. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
๓. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานสาธารณสุข
๔. หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต
๕. หลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต